logo

ประวัติจอมพลอากาศเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร

 

 

♦ เนื่องด้วยวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี เป็นวาระคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรม ของ จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้ก่อตั้งกองบินยุทธการ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยน เป็น กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ซึ่งจะจัดให้มีพิธีวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรม
จอมพลอากาศเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ณ ลานหน้าอนุสาวรีย์ 
จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร เป็นประจำทุกปี

 

 

ประวัติจอมพลอากาศเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร
          ♦ จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร มีบิดาชื่อ หรั่ง มารดาชื่อ พิษ วัฒนางกูร
          ♦ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๕๗ ณ บ้านท่าผา หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
          ♦ สำเร็จการศึกษาจาก
          ♦ โรงเรียนนายร้อยทหารบก ปี ๒๔๗๗
          ♦ โรงเรียนการบิน ปี ๒๔๗๙
          ♦ โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศอังกฤษ ปี ๒๔๙๕ และ
          ♦ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี ๒๔๙๘

   จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ได้ปฏิบัติหน้าที่สนองพระคุณประเทศชาติ และประกอบวีรกรรมอันควรสรรเสริญหลายประการที่สำคัญ คือ
♦  เมื่อสงครามอินโดจีนอุบัติขึ้น กรณีเรียกร้องขอดินแดนคืน ท่านเป็นผู้บังคับฝูงบินสนามอรัญประเทศ ยศเรืออากาศเอก ได้นำฝูงบินเข้าโจมตี
เป้าหมาย ศรีโสภณ, เสียมราฐ, พระตะบอง อย่างได้ผล และเข้าทำการบินรบทางอากาศกับเครื่องบินฝรั่งเศส ซึ่งเป็นข้าศึกอย่างห้าวหาญหลายครั้ง
ในช่วงเวลาตั้งแต่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ถึง ๓๐ เมษายน ๒๔๘๔ ท่านได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญเป็นบำเหน็จความชอบ
เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๔ ซึ่งกระทำพิธีประดับที่วัฒนานคร

♦  อีกกรณีหนึ่งคือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านเป็นผู้บังคับฝูงบินลำปาง ยศขณะนั้น นาวาอากาศตรี ได้ทำการบินขับไล่สกัดกั้นข้าศึก
หลายครั้ง ด้วยจำนวนเครื่องบินและสมรรถนะที่ด้อยกว่ามาก แต่ความกล้าหาญของท่านนั้นเป็นที่ประจักษ์ เช่นในการรบทางอากาศครั้งหนึ่ง
ท่านได้นำฝูงบินจำนวน ๕ เครื่อง ขึ้นต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก ๒๑ เครื่อง อย่างกล้าหาญ ฝากเกียรติประวัติไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศ แต่โดยที่ท่านเคยได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญมาแล้ว ในคราวนี้ ท่านจึงได้รับพระราชทานช่อชัยพฤกษ์ประดับที่แพรแถบเหรียญกล้าหาญ
เป็นบำเหน็จความชอบในการปฏิบัติหน้าที่ นับเป็นเกียรติที่สูงยิ่ง

♦  ครั้นเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๐๓ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ท่านได้เป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวะไมตรีเดินทางไปราชการ
ที่กรุงไทเป ตามคำเชิญของผู้บัญชาการทหารอากาศจีนคณะชาติ ในวันเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๐๓ เครื่องบินพาหนะ
ได้ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาบริเวณสนามบินซุงซาน ใกล้กรุงไทเป หลังจากวิ่งขึ้นได้เพียง ๓ นาที ท่านและคณะเสียชีวิตทั้งหมด นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของกองทัพอากาศ เนื่องจากจอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร เป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งได้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ
เป็นนักรบและผู้นำที่เสียสละ ซึ่งอนุชนรุ่นหลังควรศึกษา ได้พัฒนากองทัพอากาศให้ทันสมัยเป็นอย่างมาก และท่านมีส่วนอย่างสำคัญในการก่อตั้งกองบินยุทธการในอดีตขึ้นมา ซึ่งเป็นหน่วยที่ให้กำเนิด กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ในปัจจุบัน

♦  ในวันที่ ๑๔ เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวาระคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรม ของ จอมพลอากาศ เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร กรมควบคุมการปฏิบัติ
ทางอากาศ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ ได้ถือปฏิบัติให้มีการประกอบพิธีวางพวงมาลา และพิธีอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำตลอดมา
เพื่อเคารพสักการะ
เป็นเกียรติ และรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน

♦  ตำแหน่งในอดีตที่สำคัญ
ผู้บัญชาการทหารอากาศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร

 

 

♦  วีรกรรมทางอากาศเหนือน่านฟ้าบ้านยาง
     เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๔ เวลา ๑๗๒๐ ระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส นายเรืออากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร
(ยศในขณะนั้น) ขณะประจำการ ณ สนามบินปราจีนบุรี มลฑลบูรพา ได้ทำหน้าที่หัวหน้าหมู่บิน นำเครื่องบินแบบ ๑๘ หรือ
บ.ข.๙ (HAWK 2) จำนวน ๓ เครื่อง ขึ้นปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนรบรักษาเขต ขณะบินอยู่เหนือน่านฟ้าบ้านยาง (อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ในปัจจุบัน) อยู่นั้น ได้ตรวจพบเครื่องบินรบของฝรั่งเศส ประกอบด้วย เครื่องบินทิ้งระเบิด POTEZ-63 จำนวน ๑ เครื่อง และเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน MORAN SOUNIER 406 จำนวน ๓ เครื่อง บินล้ำแดนเข้าสู่ราชอาณาจักร จึงได้นำหมู่บินเข้าสกัดกั้น และได้ทำการยุทธทางอากาศอย่างกล้าหาญ นายเรืออากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ได้ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดของข้าศึกตก ๑ เครื่อง ส่วนลูกหมู่ยิงเครื่องบินขับไล่ตกอีก ๑ เครื่อง หลังจากนั้นได้นำหมู่บินกลับมาลงสนามบินอรัญประเทศได้อย่างปลอดภัยทั้งหมด วีรกรรมครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะข้าศึกอย่างกล้าหาญ
อุทิศตนเพื่อประเทศโดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของตนเอง หลังจากนั้น เมื่อ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ได้พระราชทานเหรียญกล้าหาญเป็นบำเหน็จความชอบแด่ นายเรืออากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร

 

 

♦  วีรกรรมทางอากาศเหนือน่านฟ้านครลำปาง
    เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ ระหว่างมหาสงครามเอเชียบูรพา นครลำปางถูกข้าศึกโจมตี ด้วยเครื่องบินแบบ P-38 LIGHTNING และ P-51 MUSTANG รวม ๒๑ เครื่อง กองบินใหญ่ผสมภาคพายัพ จึงส่งเครื่องแบบ ๑๕ หรือ บ.ข.๑๒ (Ki.27 OTSU) ซึ่งคนไทยเรียกว่า "โอตะ" หรือ
"นกกระจอก" จำนวน ๕ เครื่อง ขึ้นสกัดกั้นโดย เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร (ยศในขณะนั้น) เป็นหัวหน้าหมู่บินได้นำเครื่องบินขึ้นทำการรบกับเครื่องบินรบของข้าศึกแบบ ๑ ต่อ ๕ สามารถยิงเครื่องบินรบของฝ่ายข้าศึกตก ๔ เครื่อง ในขณะเดียวกันเครื่องบินของฝ่ายไทยก็ถูกยิงชำรุด
เสียหายทั้งหมด นักบินเสียชีวิต ๑ คน ส่วน เรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ถูกกระสุนที่ขาได้รับบาดเจ็บสาหัส ท่านและลูกหมู่ที่เหลือรวม ๔ เครื่อง ต้องนำเครื่องบินร่อนลงฉุกเฉิน ที่สนามบินลำปาง ช่างเครื่องได้นำท่านออกจากเครื่องบิน ได้ทันเวลาก่อนที่เครื่องบินข้าศึกจะตามลงมายิงจนเครื่องบินของท่านเกิดเพลิงลุกไหม้